Corporate History.....
ความเป็นมา
สถานการณ์ความรุนแรงของการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้ประชากรไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จากสถิติพบว่า ในปี พ.ศ.2562 ประชากรไทยร้อยละ 77 เสียชีวิตจากโรค NCDs หรือคิดเป็นประชากรประมาณ 380,400 คนต่อปี และมีอัตราเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 14% ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรค NCDs มากถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 9.7% ของ GDP และคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีทิศทางของการเกิดความชุกและอุบัติการณ์ของโรค NCDs ที่เพิ่มมากขึ้นจากการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรค NCDs เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ พันธุกรรม สรีรวิทยา สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตที่ไม่ส่งผลต่อการมีสุภาพดี เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน เป็นต้น ปัจจุบันมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ หรือแนวทางดูแลแบบเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) เป็นศาตร์ที่ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการให้บริการเพื่อให้เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยเวชศาสตร์วิถีชีวิตประกอบด้วย 6 เสาหลัก (Six Pillars) ได้แก่ โภชนาการ การออกกำลังกายและการมีกิจกรรมทางกาย การจัดการความเครียด การนอนหลับที่มีคุณภาพ การลดละเลิกสารเสพติดให้โทษ เช่น บุหรี่ และแอลกอฮอล์ และการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกในสังคม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในบรรดาอารยประเทศต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มประเทศในเอเชีย ยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทยได้มีการริเริ่มพัฒนางานด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2562 โดยเริ่มจากงานวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตสำหรับแพทย์ โดยการสนับสนุนทุนดำเนินการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมอบให้สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เช่น สถาบันโภชนาการ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล เช่น กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักวิชาการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ BDMS Wellness Centre ในการร่วมพัฒนาหลักสูตร และขยายผลโดยไปดำเนินการจัดตั้งคลินิกเวชศาสตร์วิถีชีวิตทั้งในภาคมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลชุมชน และหน่วยบริการภาคเอกชน
แต่อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนางานด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตของประเทศไทยซึ่งอยู่ในระยะริเริ่มดำเนินการมีปัญหาท้าทายหลายประการที่จะส่งผลต่อการเข้าถึงข้อมูลเพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยพบว่า ในด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมีประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แก่
1) ข้อมูลองค์ความรู้เวชศาตร์วิถีชีวิต (LM) กระจัดกระจาย ขาดการรวบรวมอย่างเป็นระบบและยังไม่สามารถเข้าถึง
2) ขาดข้อมูลของมาตรฐานสถานบริการและแนวทางการให้บริการเวชศาตร์วิถีชีวิต (LM) อย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรม
3) ขาดฐานข้อมูลกำลังคนเวชศาตร์วิถีชีวิต (LM) เพื่อการผลิต พัฒนา และธำรงรักษา
4) ขาดฐานข้อมูลในการนำมาใช้เพื่อประเมินผลลัพธ์การบริการด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต เพื่อป้องกันและควบคุมโรค NCDs และ
5) ขาดช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพโดย LM ที่เป็นทางการ
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้งานวิจัย และสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเวชศาสตร์วิถีชีวิต ทั้งด้านการบริการสุขภาพ กำลังคนสุขภาพ และงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ และสร้างระบบการจัดการข้อมูล เพื่อประเมินผลลัพธ์การบริการด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต เพื่อป้องกันและควบคุมโรค NCDs พัฒนาศูนย์ข้อมูลด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต โดยการจัดทำ Website เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้บริหาร รวมถึงความพยายามในการยกระดับมาตรฐานการบริการ แนวทางการบริการ มาตรฐานกำลังคน โดยมีเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังให้หน่วยงานภาครัฐได้นำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาด้านการจัดการ และการบริการสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน